Vacilando Bookshop ร้านหนังสืออิสระขนาดเล็กย่านนางเลิ้ง ที่เกิดจากความหลงไหลในหนังสือภาพถ่ายของคุณปิ่น-วิทิต จันทามฤต และคุณเอิง-กนิฐปัญณีย์ นิ่มศรีทอง ที่มีความสนใจในหนังสือมือสองเหมือนกัน กลุ่มหนังสือตกสำรวจที่ผ่านมือคนที่รู้ค่า ไม่รู้ค่า และกลับไปมีค่าอีกครั้งในชั้นหนังสือของใครสักคน
จุดเริ่มต้นของ Vacilando Bookshop
เราทำงานในกองถ่ายโฆษณาและภาพยนตร์ มันทำให้เราได้เดินทางไปทำงานต่างสถานที่บ่อย ๆ เราเป็นคนชอบอ่านหนังสืออยู่แล้วเลยชอบตระเวนเข้าไปที่ร้านหนังสือมือสองในต่างจังหวัดเพื่อหาซื้อหนังสือเก่ามาเก็บไว้ หนังสือส่วนใหญ่ที่เราสนใจจะเป็นเกี่ยวกับภาพถ่าย ซื้อสะสมไว้เยอะจนคิดอยากลองเปิดร้านออนไลน์ผ่าน Instagram ดู ตอนนั้นเรายังทำร้านเป็นงานนอกเวลาว่างจากการออกกอง
ปีแรกของ Vacilando Bookshop เป็นปีเดียวกับงาน Bangkok Art Book Fair ด้วย พอเราได้ไปขายในงานและได้เห็นตลาดของหนังสือศิลปะและหนังสือมือสองในประเทศเราว่ามันมีตลาดของมันอยู่เหมือนกัน เริ่มรู้สึกว่ามันก็ทำได้นี่นา เราน่าจะสามารถขายออนไลน์และมีหน้าร้านพร้อมกันด้วยได้ เลยตัดสินใจขอยืมพื้นที่ของทาง Books and Belongings ของพี่โย กิตติพล สรัคคานนท์ ในปี 2019 เพื่อทดลองมีหน้าร้านเป็นของตัวเอง
จากที่ก่อนหน้านี้เราเจอลูกค้าแค่ปีละครั้งคืองานแฟร์ พอมีหน้าร้านทำให้สะดวกกับลูกค้ามากขึ้นและได้ลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติเพิ่มมาอีกด้วย แต่ด้วยความที่ตัวร้านกับบ้านค่อนข้างไกลกัน และเป็นระบบฝากขาย เลยค่อนข้างลำบาก บวกกับตอนนั้นเข้าช่วงโควิดเลยปิดหน้าร้านและกิจกรรมหน้าร้านไปก่อน ในระหว่างที่ชั้นอื่นๆ ยังเปิดอยู่เป็นปกติ และกลับมาขายออนไลน์เหมือนเดิม
จนมาถึงปี 2020 เราได้หน้าร้านใหม่ที่วงเวียน 22 ซึ่งช่วงนั้นเริ่มมีนักท่องเที่ยวกลับมาบ้างแล้ว แต่มันก็ยังไม่มีอะไรแน่นอนเช่นกัน หลังจากนั้นเราเปิดร้านยาวมาจนกระทั่งเราเริ่มป่วยช่วงปลายปี 2022 ทำให้ต้องกลับไปขายออนไลน์เหมือนเดิมอยู่หกเดือน ก่อนจะรักษาตัวและกลับมาเปิดหน้าร้านใหม่อีกครั้งที่นางเลิ้งนี้
หนังสือที่ดีในความหมายของ Vacilando
เราคิดว่ามันอยู่ที่ว่าคนอ่านสนใจหนังสือเล่มนั้นไหม บางเล่มที่ว่าดีอาจจะอยู่กับตัวเรานานจนได้อ่านซ้ำ ให้ได้ความรู้สึกใหม่จากการอ่านครั้งที่สอง หรือสาม เช่น พวกหนังสือของมูราคามิ ตอนวัยรุ่นที่เราอ่านและเข้าใจมันแบบหนึ่ง พอกลับมาอ่านตอนโตขึ้นได้เข้าใจอีกมุมหนึ่ง ซึ่งมันน่าจะสัมพันธ์กับประสบการณ์ชีวิตของเราด้วย รวมถึงหนังสือภาพด้วย ที่บางสถานที่ที่เราไม่เคยไป มาวันหนึ่งได้ไปแล้วกลับมาดูภาพเดิม ก็รู้สึกว่ามุมมองมันแตกต่างออกไป
เหตุผลที่เราสนใจหนังสือมือสองเพราะเราสนใจเวลาในการเดินทางของหนังสือแต่ละเล่มด้วย หนังสือเล่ม A จริง ๆ แล้วมีค่ามากที่อยู่บ้านนาย ก หลังจากนั้น นาย ก โละหนังสือตัวเองให้ร้านหนังสือมือสองด้วยราคาเหมา หมายความว่าหนังสือเล่ม A มันหมดความสนใจจากบ้านนาย ก แล้ว ถ้าร้านหนังสือมือสองที่ได้ซื้อไปแล้วพอรู้มูลค่าของเล่มนี้ ราคาของหนังสือก็จะขึ้น แต่ถ้าหากไม่รู้เขาจะขายมันในราคาต่ำ ๆ จนกระทั่งนาย ข เข้ามาเห็นเล่มนี้และรู้มูลค่าจริงของหนังสือว่ามันไม่ควรอยู่ที่นี่ และตัดสินใจซื้อกลับไปขายให้กับนาย ค ที่อยากได้หนังสือเล่มนี้จริง ๆ ผมเรียกสิ่งนี้ว่าความสมบูรณ์ของวงจรหนังสือ คือมันผ่านคนที่รู้ค่า ไม่รู้ค่า จนได้กลับไปมีค่าอีกครั้งในชั้นหนังสือของใครสักคน
มีวิธีการเลือกที่ตั้งร้าน Vacilando Bookshop ไหม
เรื่องสถานที่เราไม่เคยเลือกพื้นที่เลย เราเลือกโอกาสที่โยนมาหาเรา ซึ่งเราค่อนข้างโชคดีที่มีเพื่อนและลูกค้าที่รักเราเยอะ ร้านแรกเจ้าของร้านเป็นนักเขียน คุยกันถูกคอเลยได้แชร์พื้นที่ร่วมกัน ร้านถัดมาที่ตึก Arai Arai เยาวราช ก็เป็นคนรู้จักชวนไปแบ่งพื้นที่เช่าร่วมกัน โดยแยกเป็นชั้น ๆ ซึ่งทุกคนก็แชร์ลูกค้าร่วมกันได้ มันเวิร์กมาก ๆ ในช่วงแรก แต่พอโควิดกลับมาทำให้ร้านกาแฟไม่ได้เปิดทุกวัน สลับกันปิดกันเปิดทำให้ลูกค้าสับสนว่าพื้นที่ไหนเปิดบ้างไม่เปิดบ้าง
จนกระทั่งมาเปิดที่พื้นที่เดิมของ Nangloeng Shophouse โดยเกิดจากที่เจ้าของเดิมถึงจุดอิ่มตัวและอยากปล่อยพื้นที่นี้ออกไปเลยชวนให้เรามาลองขายเป็น Vacilando Bookshop Pop Up ดูก่อนในช่วงแรก ก่อนตัดสินใจเลือกพื้นที่นี้
มุมมองต่อการทำธุรกิจร้านหนังสืออิสระ
ธุรกิจร้านหนังสือยังมีอยู่เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านหนังสือตามห้างสรรพสินค้า หรือธุรกิจหนังสือเพื่อการศึกษา แต่ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันนโยบายห้องสมุดหรือการเขียนหนังสือมันลดน้อยลง แถมเราเองยังขายหนังสือนำเข้าอีก ราคาก็ต้องสูงขึ้นไปอีก ร้านแบบเรามันอยู่ในกลุ่มคนที่แคบมาก ฉะนั้นเราต้องสร้างคอมมิวนิตี ส่วนตัวและขายของไปด้วย
สำหรับที่นี่เราก็ไม่ได้คิดอยากจะสต็อกหนังสือเพิ่มไปมากกว่านี้แล้ว เพราะเท่านี้ที่ทำก็เพียงพอกับกลุ่มลูกค้าที่มีอยู่แล้ว อีกอย่างคืออยากให้มันยังคงเป็นพื้นที่ให้คนได้เข้ามาใช้ร่วมกันอยู่ อย่างพื้นที่เล็ก ๆ ด้านในที่เคยเป็นบาร์ เราเว้นไว้สำหรับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ
พอเรามีภาพที่เราอยากให้ร้านเป็นเลยคิดว่า อะงั้นเรามาลองอยากทำธุรกิจแบบนี้ งู ๆ ปลา ๆ เคาะตัวเลขแล้วตัวเลขยังไม่แดง ก็โอเค สองเดือนที่ผ่านมากับนางเลิ้ง มันน่ารักดี มีความเป็นย่าน มีชุมชนและชาวบ้านที่ใช้ชีวิตอยู่แถวนี้ ต่างจากเยาวราชที่เป็นโซนบาร์ ไม่มีความเป็นชุมชนสัมพันธ์เท่าไร อย่างนางเลิ้งมันจะมีทั้งนักท่องเที่ยว ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ คนทำงานครีเอทีฟ ชาวบ้าน มีทั้งร้านกาแฟ สำนักพิมพ์ สตูดิโอกราฟิก ซึ่งเป็นเพื่อนของเพื่อนเราหมดเลย เวลาเขามาเจอกันเขาจะใช้ร้านเราเป็นเหมือนห้องนั่งเล่น
ลูกค้าออนไลน์ VS ลูกค้าออฟไลน์
การขายออนไลน์เป็นการอธิบายด้วยภาพและคำบรรยายใต้ภาพสั้น ๆ แต่บางทีเราอยากอธิบายไปถึงเนื้อกระดาษและผิวสัมผัสของหนังสือด้วย อย่างแฟนเราเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ ถ้าช่างภาพอยากผลิตหนังสือของตัวเองเขาก็สามารถแนะนำกระดาษหรือเทคนิคให้ได้
ส่วนกลุ่มออนไลน์ถือเป็นลูกค้ากลุ่มแรกของเรา ซึ่งคือเพื่อนและเพื่อนของเพื่อน ด้วยความที่เราเป็นช่างภาพและเรารู้ว่าเพื่อนเราน่าจะชอบศิลปินแบบไหน เราก็หาหนังสือมาให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าได้ไม่ยาก
กลุ่มที่สองคือกลุ่มคนที่ไม่รู้จักเรามาก่อนแต่มาเจอเราที่งาน Bangkok Art Book Fair, Made by Legacy, Bangkok Design Week และคนที่ติดตามเราผ่านช่องทางออนไลน์อยู่แล้ว ช่วงนั้นคนตื่นตัวกับการซื้อของออนไลน์มากขึ้น หนังสือก็ถือว่าอยู่ในกระแสเหมือนกัน ร้านเติบโตได้จากการแชร์ต่อกันไปเรื่อย ๆ ใน Instagram จากการที่ลูกค้าแท็กร้านของเรา ทำให้เพื่อน ๆ ของพวกเขาได้รู้จักเราไปด้วย สร้างเป็นเครือข่ายลูกค้าขึ้นมาจากการแนะนำกันในรูปแบบนี้
ถ้ามีงานแฟร์เกี่ยวกับหนังสือเยอะขึ้นในประเทศเราจะยังเปิดหน้าร้านอยู่ไหม
เปิด เพราะเรารักในพื้นที่ที่เราสร้างขึ้นมา ถ้ามันมีแต่งานแฟร์เต็มไปหมด แล้วทุกคนไปขายแต่งานมันก็คงเหมือนงานสัปดาห์หนังสือที่สุดท้ายทุกคนก็รอแค่ให้มีงาน ไม่งั้นก็นอนอยู่บ้านกัน
แต่สุดท้ายเราก็ต้องการ physical customer (ลูกค้าหน้าร้าน) อยู่เพราะเรารู้สึกว่าร้านควรมีมากกว่าการขายของ มีเวิร์กช็อป มีเสวนา มีการเรียนการสอน สิ่งที่แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน
สองสามปีนี้เราเป็นอาจารย์พิเศษวิชาโฟโตในมหาวิทยาลัยด้วย ทำให้มีโอกาสได้คุยกับนักศึกษาเรื่องโปรเจกต์จบว่าสมัยนี้เด็กส่งเป็นงานดิจิทัลกันหมดแล้วใช่ไหม และเมื่อพูดถึงการทำโฟโตบุ๊กน้อง ๆ ไม่รู้จักเลย มันอาจจะฟังดูเหมือนสิ่งใหม่ แต่มันส่งต่อคุณค่าของผลงานของคุณว่าคุณมีความคิดอย่างไร ขมวดความคิดออกมาผ่านกระบวนการพิมพ์ต่าง ๆ เช่น การเลือกกระดาษ การจัดวางองค์ประกอบ รูปแบบเล่มที่เลือกใช้
ในระหว่างที่ปัจจุบันหนังสือและคอนเทนต์ต่าง ๆ ถูกตีพิมพ์น้อยลง ช่างภาพที่เริ่มสนใจผลิตโฟโตบุ๊กก็เริ่มมีมากขึ้น เพราะเขาเริ่มรู้ว่างานมันถูกส่งออกไปต่างประเทศได้ จุดนี้ร้านเรากลายมาเป็นตัวกลางที่มีทั้งช่างภาพ โรงพิมพ์ บริษัทกระดาษ เพื่อนร้านหนังสือที่ต่างประเทศ เชื่อมต่อเขาเข้าหากัน ถ้าลองคิดภาพว่ามันมีร้านแบบเราในหมวดอื่น ๆ อีกได้ มันก็จะต่อวงจรออกไปเรื่อย ๆ
ถ้าถามว่าเราอยากเห็นอะไร อยากเห็นหนังสือไทยที่มีเนื้อหาที่น่าสนใจที่อาจจะเฉพาะทาง หน่อย ประวัติศาสตร์หรือวัฒนธรรม เป็น niche (เฉพาะกลุ่ม) ของสิ่งที่คุณชอบและศึกษามันอยู่ อย่างหนังสือธรรมชาติที่แฟนเราเลือกมาชื่อ On the Necessity of Gardening ซึ่งจริงๆมันเป็นแค่หนังสือ Encyclopedia A-Z ที่พาเราไปรู้จักโลกของธรรมชาติ และพฤกษศาสตร์ตามหมวดตัวอักษรต่างๆ ไปเรื่อย ๆ เช่น W คือ Walden ชื่อบึงที่ Henry David Thoreau นักเขียนอาศัยอยู่ในช่วงที่เขียนความเรียงชิ้นนี้ ซึ่งเล่มนี้ถูกผลิตขึ้นด้วยการสนับสนุนด้วยเทศบาลเมือง
(1) Vacilando Bookshop at Arai Arai, BKKABF 2019, Vacilando Bookshop at Books and Belonging, BKKABF 2018. All Images © Vacilando Bookshop
การเติบโตของ Vacilando ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา
เราเคยถูกช่างภาพต่างประเทศถามว่าแล้วผลผลิตหนังสือของคนไทยคืออะไร ซึ่งในปีแรก ๆ เราตอบเขาไม่ได้ จนมาปีหลัง ๆ เราถึงพอมีให้เห็นผลงานจากคนไทยบ้าง แต่มันต้องอธิบายไปถึงกระบวนการผลิต ต้นทุน และเทคนิคต่าง ๆ ที่มันสูงและไม่สามารถผลิตในจำนวนน้อยได้
ในด้านของวัฒนธรรมการอ่านถ้าเกิดประเทศเราแข็งแรงมันจะทำให้ห้องสมุดมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับคนต่างประเทศสุดสัปดาห์เขาอาจจะไปห้องสมุดกัน แต่สำหรับเราห้องสมุดในปัจจุบันมันไม่ค่อยเป็นมิตรสักเท่าไร มีค่าใช้จ่ายในการเป็นสมาชิก บางทีเราก็ไม่แน่ใจว่าห้องสมุดที่มีอยู่ในปัจจุบันมีหนังสือแบบที่เราต้องการหรือเปล่า บรรณารักษ์ก็ไม่สามารถเลือกหนังสือเข้ามาได้มากขนาดนั้น เพราะที่เห็นส่วนมากจะเป็นหนังสือนวนิยายและประวัติศาสตร์ ยิ่งทำให้รู้สึกว่าร้านหนังสืออิสระของเรามันมีศักยภาพที่จะโตได้ แต่ก็ยังอยู่กลุ่มของคนชนชั้นกลาง คนกรุงเทพฯ ชั้นใน หรือนักเรียนในกรุงเทพฯ ก่อนในปัจจุบัน
คิดอย่างไรกับวงการร้านหนังสือ
วงการนี้มีผู้เล่นอยู่เยอะ แต่เรามองว่าเราอยู่คนละ league (สนามการแข่งขัน) กัน ร้านหนังสือทั่วไปเขาอาจจะไม่ได้มีเวลามาคุยกับลูกค้าแนะนำได้มากเท่าเรา เพราะต้องโฟกัสไปกับการทำจำนวนและการทำสต็อกต่าง ๆ สำหรับ Vacilando เองเราโอเคที่อยากจะเสิร์ฟเล็กแต่เสิร์ฟได้มากกว่า ถามว่าทำไมเราเลือกหนังสือภาพกับอศิลปะก็เพราะชอบและมีคอนเน็กชันส่วนตัวของเพื่อนที่สามารถส่งหนังสือเหล่านี้ให้เราได้
ช่วงหลังร้านเราเริ่มแบ่ง genre (หมวดหมู่) เพิ่มขึ้นด้วย มีหมวดหนังสือธรรมชาติ เพราะเป็นสิ่งที่แฟนชอบ ทำให้ปัจจุบันหนังสือที่ขายดีก็ไม่ใช่โฟโตบุ๊กอีกต่อไป แต่เป็นหนังสือธรรมชาติด้วยซ้ำ มันทำให้เรารู้ว่ามันมี demand (ความต้องการ)ที่หลากหลายของนักอ่านเต็มไปหมด ยิ่งพอเราได้ไปออกงานงาน Bangkok Design Week มันทำให้เราเห็นว่าในวงการนี้ยังมีผู้เล่นที่เป็นนักศึกษาที่ทำหนังสือขายเอง ศิลปินที่อยากพิมพ์ผลงานตัวเอง นายทุนที่อยากทำหนังสือแต่ไม่มีตัวเชื่อมต่อทุกคนเข้าหากันนอกจากงานแฟร์
รวมถึงร้านหนังสืออิสระในตอนนี้ที่แยกหมวดที่สโคปเล็กลงไปเรื่อย ๆ จะไม่มีร้านที่ขายหนังสือทุกหมวดหมู่อีกต่อไป แต่จะเป็นร้านหนังสือเฟอร์นิเจอร์ แมกาซีน ภาพถ่าย เพราะสำหรับผู้ประกอบการเองมันไม่คุ้มด้วย และคนเข้ามาก็คงไม่ได้สนุกด้วยถ้ามันหลากหลายมากจนเกินไป เราคิดว่าลูกค้ามันมีอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าคุณหาลูกค้าของคุณเจอไหม
เป้าหมายในอนาคต
พอเราผ่านการป่วยที่รุนแรงมาได้ การมีชีวิตแต่ละวันก็ดีมากแล้ว ร่างกายเราไม่ได้แข็งแรงมากจะบู๊เหมือนเมื่อก่อนไม่ได้ แต่พอเรามีหน้าร้านคือแฮปปี้แล้ว ที่เหลือคือยืนระยะต่อไปให้ได้ แล้วรอเวลาที่เหมาะสม เราอยากจะมีสำนักพิมพ์ของตัวเอง ตอนนี้มันเป็นกลไกย้อนทางนิดหนึ่ง เพราะเรามาทำที่ขายก่อนที่เราจะมี โปรดักต์แต่ถ้าวันหนึ่งเรามีโปรดักต์แล้วเราก็ขายมันได้ไม่ยาก และคงไปขายต่างประเทศได้ไม่ยากเช่นกัน
ก่อนโควิดเราได้คัดเลือกหนังสือไทยบางส่วนไปขายที่ญี่ปุ่น มันทำให้เห็นว่าหนังสือไทยมีต้นทุนการผลิตที่สูงเกินไป เพราะพอไปอยู่ในตลาดของญี่ปุ่น แม้ว่าเขาจะมีกำลังซื้อ เขาก็ยังรู้สึกว่ามันแพงเกินไปอยู่ดี เทียบกับราคามาตรฐานทั่วไป
เป้าหมายสูงสุดคืออยากจะมีสิ่งพิมพ์เป็นของตัวเองและได้ไปขายที่ต่างประเทศ ได้ผลิตโปรดักต์ของตัวเองคงจะทำให้เรารู้สึกเติมเต็มในแง่ของความสำเร็จและความแข็งแรงทั้งกายและใจ เพราะที่ผ่านมาเราผ่านการเปลี่ยนแปลง ออกนอกเส้นทางมาเยอะ
(1) Vacilando & XXXYYY Pop up bar, (2) Vacilando Book talk with Hyunkyung Lee, (3,4) Second Selected Event at Arai Arai, Images © Vacilando Bookshop
โปรเจกต์ที่อยากแนะนำให้รู้จัก
อยากแนะนำ Vacilando and Friends โปรเจกต์ที่ชวนเพื่อนและคนรู้จัก คนแรกเป็นรุ่นน้องบาริสตาจากร้าน XXXYYY ซึ่งเราสนับสนุนกันมาเรื่อย ๆ อยู่แล้ว เขามีจัดงานเราก็ไปจอย จนพอเราย้ายร้านมา เขาก็ชวนเรา pop-up เป็นร้านกาแฟในร้าน ในอนาคตเราก็อยากจะเชิญคนทำกาแฟท่านอื่น ๆ มาทำกาแฟอีกด้วย มาสร้างให้พื้นที่นี้เป็นห้องนั่งเล่นกัน
ครั้งที่สองมีรุ่นพี่ชื่อแบงค์ เป็นนักดนตรี ออกตัวขออยากมาลองเล่นดนตรีนอกสถานที่ แล้วคนก็เต็มร้านเลย ถือเป็น experience (ประสบการณ์)ใหม่ ที่สอดคล้องไปกับเป้าหมายของเราที่อยากสร้างร้านหนังสือ พื้นที่ และประสบการณ์ร่วมกัน
ก่อนหน้านี้เราเคยจัดอีเวนต์ใหญ่ครั้งหนึ่งที่ Arai Arai ซึ่งคนมันเยอะและใช้พลังงานมหาศาลมาก แต่เราก็ชอบนะ เราได้ชวนทั้งเพื่อน อาจารย์ ที่เป็น curator (ภัณฑารักษ์) อายุ 40-50 ปีมาเชื่อมต่อกับเด็กยุคปัจจุบันที่โตมายุคดิจิทัลแล้ว มันเกิดการแลกเปลี่ยนที่ครอสกันไปมา แต่ตอนนี้เราต้องยอมรับว่าไม่ได้มีพลังและพื้นที่มากพอที่จะจัดงานแบบนั้นได้ แต่ก็ยังคงมีแผนที่อยากจะทำอยู่ในอนาคต
อยากจะบอกอะไรกับคนที่กำลังทำโปรเจกต์ส่วนตัว
แต่ละช่วงชีวิตของแต่ละคนคงต่างกันออกไป แต่ถ้าเรายืนระยะจนถึงวันหนึ่งแล้วมองย้อนกลับไปนึกได้ว่ามันเป็นความสำเร็จ เป็นพลังที่อยากจะไปต่อ แสดงว่าคุณมาถูกทางแล้ว แต่ถ้ายังไม่เจอก็ไม่เป็นไร ทุกอย่างใช้เวลา แรง กำลังใจ และใช้โชคด้วย
ที่ผ่านมาถ้าเราไม่สู้ระหว่างทาง มันคงไม่มีคนเข้ามาคอมเมนต์ในวันที่ปิดร้านมากขนาดนี้หรอก ทั้งลูกค้า ทั้งสำนักพิมพ์ ทำให้เราคิดได้ว่านี่แหละคือเป้าหมายและจุดรวมของการงาน ความชอบ และอาชีพของเรา
เราจึงพูดกับทุกคนเสมอว่า thank you as always
สิ่งที่ทำในชีวิตประจำวันที่คนอาจจะไม่รู้
สิ่งที่ทำอยู่สองอย่างนอกจากงานคือเล่นเกมและอ่านหนังสือ เป็นกิจกรรมต่อเนื่องตั้งแต่ล็อกดาวน์ และการป่วยที่ทำให้เราทำอะไรไม่ค่อยได้ เราชอบเล่นเกมเพราะได้สวมบทบาทต่าง ๆ ในโลกสมมุติ อาจจะเพราะว่าล็อกดาวน์กับป่วยร่างกายมันไม่สามารถที่จะตอบโต้กับโลกภายนอกได้หรือมันเหมือนได้ในใช้ชีวิตในโลกที่มันเป็นโลกสมมุติ ยิ่งถ้ามองย้อนกลับไปในตอนด็ก ๆ ก็ชอบเล่นเกมเหมือนกัน แต่แม่ก็อยากจะให้แต่หนังสือ พอโตมาปุ๊บเราบริหารการเงินของตัวเองได้เราก็จะสามารถซื้อเกมเองได้ก็เปรียบเสมือนการให้รางวัลเล็กๆ ให้กับตัวเอง
เมื่อก่อนจะมีหนังสือเกี่ยวกับบทสรุปเราก็เหมือนแบบไปตามหาโดยสรุปเกมเราก็จะได้เนื้อหาเกี่ยวกับเกมนั้น อย่างเช่น Simcity เป็นเรื่องของการเมือง เป็นเรื่องของความต้องการของสังคมที่ถูกพัฒนามาเป็นเกม และหลาย ๆ อย่างมันสนุกกว่าการที่จะมองหลักสูตรของโรงเรียนที่ให้มา
เล่นเกมก็จะมีชื่อเทพเจ้าที่เราไปตามอ่านต่อว่าเทพเจ้าคนนี้คือใคร เราได้เห็นแล้วว่าเขาทำอะไรได้ในเกม แล้วสิ่งที่เป็นประวัติของเขาคืออะไร เราก็จะไปอ่านจากหนังสือ
เหตุการณ์ที่สร้างบทเรียนที่ดีให้กับตัวคุณ
อาการป่วยเป็นสิ่งที่ทำให้เราย้อนมองกลับไปร่วมกับแฟน ในสิ่งที่เราทำอยู่ในตอนนั้นมันมีความสุขมาก ทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย แต่ไม่ได้คาดคิดว่าจะมีอาการป่วยนี้เกิดขึ้นเลย พอเราป่วยคุณเอิงก็บอกกับผมว่าที่ผ่านมาถ้าเราไม่สู้ระหว่างทาง มันคงไม่มีคนเข้ามาคอมเมนต์ในวันที่ปิดร้านมากขนาดนี้หรอก ทั้งลูกค้าทั้งสำนักพิมพ์ ทำให้เราคิดได้ว่านี่แหละคือเป้าหมายและจุดรวมของการงาน ความชอบ และอาชีพของเรา เราจึงพูดกับทุกคนเสมอว่า thank you as always (ขอบคุณเสมอ)
หลัง ๆ ร้านของเราเพิ่มหนังสือด้าน spiritual (จิตวิญญาน), ecology (นิเวศวิทยา) และ culture (วัฒนธรรม) มากขึ้นด้วยเพราะความคิดของเราในตอนนี้มันไปในทิศทางนี้ ซึ่งมีคนให้ความสนใจในหนังสือหมวดนี้อยู่มากเหมือนกัน
เหตุการณ์ที่รู้สึกดีใจที่สุด
ในตอนที่ Kiko Mizuhara ทักมาใน Instagram ว่าชอบหนังสือเรื่องนี้มากเรารู้สึกว่าดีใจที่สุด ดีใจที่เราก็เป็นแฟนคลับเขา และรู้สึกดีใจที่โลกมันเล็กลง
อีกเหตุการณ์คือเพื่อนเป็นช่างภาพต่างประเทศที่คุยกันทาง Instagram มานานจนกระทั่งวันนึงเขาเข้ามาเหยียบที่หน้าร้านเรา แค่นี้ก็ดีใจแล้ว หรือตอนที่ออกแฟร์ที่ญี่ปุ่นครั้งที่ 1 โดยไม่รู้จัก แต่พอไปครั้งที่ 2 มีคนเดินมาบูทเรา ‘ตอนนี้มันหนาวนะ ซื้อแผ่นแปะร้อนมาให้’ ครั้งที่ 3 คนญี่ปุ่นเหล่านั้นมาไทยเราก็พาเพื่อนญี่ปุ่นไปกินข้าวต้ม มันเป็นมิตรภาพหนังสือพาเราไปรู้จักโลกมากขึ้น สวิตช์ชีวิตเราจากวัยรุ่นสร้างตัวไปเป็นวัยกลางคนให้ลึกมากยิ่งขึ้น แต่จะลึกมากขึ้นอย่างไร สำหรับเรามันคือเรื่องของเพื่อนและมิตรภาพที่เกิดขึ้นระหว่างทาง
สถานที่ไหนที่ชอบที่สุด
ชอบสวนสาธารณะ ชอบเอาหนังสือไปนั่งอ่านที่สวนสาธารณะ แต่มันร้อนมากนะ เราชอบใช้ชีวิตเอาต์ดอร์ในสวนสาธารณะ หรือห้องสมุดที่มันเห็นท้องฟ้าอะไรแบบนั้นคือโอเค แต่สวนสาธารณะของไทยมันมีสิ่งที่พาเสียสมาธิแล้วตัดสินใจว่าไม่ไปอยู่เสมอ ทั้งเรื่องของค่าเดินทาง เวลาเปิดปิดของสถานที่ ต้องยอมรับว่าการใช้ชีวิตนอกบ้านในประเทศไทย มันยังยากอยู่ และสวนสาธารณะก็ไม่ได้ถูกสร้างมาให้คนไปนั่งเล่นแต่ให้คนไปออกกำลังกายมากกว่า
เมื่อวานยังคุยกันอยู่เลยว่าอากาศดีทำไมเราไม่มีพื้นที่ที่ใกล้ริมแม่น้ำและกินเบียร์กันได้วะ กินเบียร์ก็ผิดอีก กลางคืนสองทุ่มถ้ามานั่งก็ดูแบบไม่ดีอีก
สีที่ชอบ
เขียวโลโก้ ในตอนที่เลือกสีเราเดินทางค่อนข้างบ่อยและได้เห็นแลนด์สเคปของธรรมชาติแล้วจินตนาการว่ามันคือสีเขียวของต้นไม้หลังฝนตก