คุณกานต์เจ้าของโปรเจกต์ Standard Archives แบรนด์แฟชั่นที่ใช้เศษผ้าในการกำหนดวันออกคอลเลคชั่น แทนการออกเป็นฤดูกาลตามเทรนด์ของวงการแฟชั่น
แนะนำ Standard Archives ให้เรารู้จักหน่อย
Standard Archives เป็นแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ที่จะมีทั้งเสื้อผ้าและของใช้ภายในบ้านด้วย ถ้าได้ติดตามกันตั้งแต่ในช่วงแรก ๆ จะเห็นว่าเรามีผลิตภัณฑ์ที่เป็นสบู่และเซรามิกด้วย เดิมทีคิดว่าอยากสร้างแบรนด์ที่ผลิตสินค้าได้จำนวนมาก ๆ เน้นราคาถูก ซื้อง่าย ขายเร็ว แต่พอได้ทำไปเรื่อย ๆ เราเน้นไปที่แฟชั่นมากกว่า และหันมาโฟกัสเรื่องความเป็น Sustainability มากขึ้นในการผลิต บวกกับว่าที่บ้านผมเองทำธุรกิจผลิตเสื้อผ้าส่งออกอยู่แล้ว มีโรงงานอยู่ทั้งที่สมุทรสาครและกทม. ซึ่งผมต้องดีลกับวัสดุที่เป็นสต็อกเหลือ (dead stock) เกินจากการผลิตอยู่แล้ว ผมเลยนำมันมาใช้เพื่อสร้างสินค้าของทาง Standard Archives
Standard Archives มีปรัชญาของแบรนด์อยู่สามอย่างคือ 1 Humanity (ผู้คน) การออกแบบสินค้าเพื่อทำให้ชีวิตของผู้คนดียิ่งขึ้น 2 Expression (การแสดงออก) การสื่อสารเรื่องราวและแนวคิดของเราและส่งต่อออกไปสู่ผู้คน 3 Sustainable (ความยั่งยืน) การทำงานที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการออกแบบให้เหมาะสมและมีเหตุผลสอดคล้องไปกับโลกปัจจุบัน
ใช้เวลานานไหมกว่าจะหันมาสนใจเรื่อง Sustainability
ใช้เวลาประมาณ 2 ปี แต่ความจริงแล้วแนวคิดเรื่อง Sustainability มันเชื่อมโยงกับเราตั้งแต่แรกอยู่แล้วด้วย ในเรื่องแนวความคิดที่ว่ามันต้องเป็นสินค้าที่มีประโยชน์กับผู้คนและสามารถใช้จริง ใช้ได้นาน ๆ แต่มันต่างกันตรงที่ตอนนั้นเราใช้แนวคิดนี้แค่กับการหาแหล่งที่มาของวัสดุในการผลิตที่จะสามารถสอดคล้องกับแนวคิดความยั่งยืนได้
ซึ่งพอผ่านในช่วงแรกไป เรามองเรื่องความยั่งยืนในอีกมุมหนึ่งว่าเราอยากจะให้มันเป็นความจำเป็นที่เราต้องทำและทำมันให้ได้รอบด้านมากที่สุด ไม่ว่าทางด้านการออกแบบแบรนด์ หรือแม้แต่เรื่องการขนส่ง
ที่มาของแนวความคิด
โปรเจกต์จบตอนที่ผมเรียนแฟชั่นตอนนั้นของผมคือผมทำเกี่ยวกับพวกเสื้อผ้าที่มีแนวคิดเกี่ยวกับ Punk ซึ่งพอผมได้มาแกะหลักความคิดของการแต่งตัวในแบบ Punk มันคือการต่อต้านกับระบบที่เป็นอยู่ ซึ่งจะเป็นการมองแบบแยกชิ้นส่วน (deconstruct) เช่นผู้หญิงที่แต่งตัว Punk จะแรงและดูโหด ๆ แต่เขาจะใส่กระโปรงบัลเล่ต์ ถามว่าทำไมเขาถึงทำแบบนั้น มันคือการที่เขามองว่า Identity ของผู้หญิงในกระแสหลักมันเป็นแบบนี้แล้วเขาไม่ชอบ เขาตั้งคำถามกับมันและมองว่าสิ่งนี้มันไม่โอเค เกิดการต่อต้านด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การฉีกทิ้งหรือล้อเลียน
เราจึงเอาแนวคิดนี้มามองในวงการแฟชั่นกระแสหลักตอนนี้ว่ามันได้ก่อให้เกิดประโยชน์ หรือสร้างผลเสียอะไรกับโลกบ้าง พอได้ลองช่างใจดูมันดูจะเป็นข้อเสียซะมากกว่า อย่างแบรนด์เสื้อผ้าเมื่อก่อนจะแบ่งออกเป็นสองซีซัน ฤดูร้อนกับหนาว ที่นี้มันก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ มีรีสอร์ต มีอะไรแทรกขึ้นมาระหว่างซีซัน และมันกลายเป็นการทำใหม่ขึ้นมาเพื่อจะอยู่ได้แค่ระยะ 3-4 เดือนแล้วก็เปลี่ยนคอลเลคชั่นไปเรื่อย ๆ
Standard Archives เองก็ลอกเลียนแบบ Punk ที่ออกมาแล้วดูรุนแรง แต่เราจะเป็นรุนแรงอีกแนวที่ว่า ‘ฉันจะไม่รับการตกแต่งใด ๆ ไม่ออกคอลเลกชันบ่อย และไม่ต้องปั๊มของปล่อยเยอะ ๆ เพื่อให้คนทิ้งแล้วทิ้งอีก’
การออกแบบจากเศษผ้ามีขั้นตอนยังไงบ้าง
โรงงานของผมจะมีเส้นด้ายเหลือ ๆ จากการผลิตหรือ Cancel Order ต่าง ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้วแทบจะไม่มีแบรนด์ไหนเลยที่มาสนใจและบอกว่า ‘อ่อ มีของเหลือหรอ ฉันสนใจที่จะขอซื้อต่อไปทำอย่างนั้น อย่างนี้’ แต่ผมเลือกที่จะเก็บงานจุ๊บจิ๊บ จุกจิกในส่วนนี้มาทำ จะต่างจากตอนที่ผมเรียนหรือแม้แต่การทำแบรนด์ออกแบบเสื้อผ้าผมจะคิดแล้วว่าตอนสุดท้ายจะออกมาเป็นแบบไหน ในขั้นตอนของการผลิตจะออกไปซื้อผ้า ซื้อวัสดุที่จะใช้เพื่อให้ออกมาเป็นภาพจบนั้น
สำหรับ Standard Archives เองผมมองไปที่กองผ้าที่อยู่ข้างหน้าผมแล้วผมค่อยลงมือทำ อย่างวัสดุที่ผมบอกว่าใช้เศษที่เหลือจากโรงงานมันก็ไม่ได้ง่ายนะ เพราะถ้าผ้าเสียหรือเกินเขาต้องมารายงานผมก่อน และผมต้องดูว่าทำไมมันถึงเสียและดูรายละเอียดของมัน เผื่อว่าจะสามารถเก็บมาใช้สำหรับ Standard Archives หรือขายให้กับลูกค้าในราคาพิเศษไป
ซึ่งผมไม่ได้บอกนะว่าผมเป็นแบรนด์เดียวที่ทำแบบนี้ ผมว่ามีหลาย ๆ แบรนด์ที่ทำ เขาก็หยิบพวกผ้าสต็อกมาทำเป็นสินค้าเหมือนกัน สิ่งที่ Standard Archives ทำมันไม่ใช่เรื่องอะไรใหม่ แต่ปัญหาคือพวกแบรนด์ใหญ่ ๆ ก็ยังเป็นคนคุมเกมอยู่ดี เขาไม่ไปดูผ้าที่เป็นผ้าสต็อก หรือวัสดุเหลือใช้ มีแต่จะทำใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ
ถ้าเกิดเราไม่ได้นำเศษผ้าที่เหลือใช้มาทำใหม่ เศษผ้าพวกนี้จะเป็นยังไง
มันก็ไม่ได้ไปไหนครับมันอยู่ในโรงงาน อย่างผ้าที่ผมใช้บางตัวที่เหลืออยู่ในโรงงานมาไม่ต่ำกว่า 10 ปีได้เลย แล้วโรงงานของที่บ้านผมเป็นแค่หนึ่งในโรงงานในประเทศไทยซึ่งโรงงานอื่น ๆ ที่มีของเหลือแบบนี้มันก็เยอะมาก ๆ เช่นกัน แต่มันไม่มีการประสานงานกันระหว่างตัวแบรนด์กับโรงงานจริง ๆ ที่จะขอให้ทางโรงงานดึงผ้าที่เหลือออกมาเพื่อทำเป็นสินค้าอีกชิ้นนึง
ยิ่งถ้าพูดถึงในการทำโรงงาน Productivity (ประสิทธิภาพในการทำงาน) เป็นเรื่องที่สำคัญ มันจะโฟกัสอยู่กับการผลิตอย่างเดียวเลย ไม่มีมานั่งคิดว่าจะเอาผ้าที่เหลือมาระบายออกจากโรงงานยังไง หรือจะสร้างคุณค่ากับมันยังไง อาจจะต้องมีการตั้งอีกส่วนนึงของโรงงานที่ทำหน้าที่ประสานงานกับแบรนด์โดยเฉพาะในเรื่องนี้
มันเลยเป็นเหมือนวงจรอุบาทว์ของแฟชั่นเหมือนกัน ตัวผมเองก็รับออร์เดอร์จากแบรนด์เนมนอกอยู่ แล้วสิ่งที่เขาโฟกัสคือราคา ราคา ราคา การที่โรงงานจะทำราคาให้ได้ผมจำเป็นต้องเน้นเรื่อง Productivity (ประสิทธิภาพการทำงาน) เพราะการเข้ามาแทรกกระบวนการทำงานในส่วนนี้อาจจะทำให้กระทบตัวงานหลักและส่งผลกับราคาที่จะพุ่งสูงขึ้นก็ได้ อย่างสมมติว่าวันนี้เราต้องทำได้ 1,000 ตัว แต่กลับทำได้แค่ 500 ค่าแรงก็จะคูณสองขึ้นมาทันที
รู้สึกยังไงเมื่อต้องพูดในสิ่งที่สวนทางกับวงการ
เรียกได้ว่า Standard Archives ต่อต้านวิธีคิดของอุตสาหกรรมแฟชั่นหลัก แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามจะส่งเสริมความเข้าใจเรื่องของความยั่งยืนของอุตสาหกรรมเช่นกัน ตัวผมเองมองว่ามันควรมีปุ่มที่ทำลายวงการและกดปุ่มทีหายไปเลย แต่ปัญหาคือตัวผมเองก็อยู่ในอุตสาหกรรมนี้และมีคนอีกเป็นล้าน ๆ คนที่อยู่ในวงการนี้ที่ต้องพึ่งพายอดขายในการอยู่รอด แต่เราคิดว่าแฟชั่นมันควรรีเซตตัวเองใหม่หมดเลย ถ้าพูดถึงตอนนี้ทุกคนมีเสื้อผ้ากันเยอะเกินไปแล้ว คนคนนึงมีมากกว่า 100 ชิ้นด้วยซ้ำ อย่างผมเองที่พยายามจะลด เคยนับยังมีตั้ง 90 กว่าชิ้น
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้การตลาดและวงการแฟชั่นมันสร้างค่านิยมทางวัฒนธรรมที่ใช้เสื้อผ้าอย่างสิ้นเปลือง เช่น การไปงานแต่งงานคนจะคิดว่า ‘อุ๊ยตายเธอ ธีมงานเป็นสีฟ้า งั้นต้องไปซื้อชุดสีฟ้ากัน’ แล้วพอจบงานไปก็คิดว่า ‘สีฟ้ามันอุบาทว์มาก ฉันใส่ครั้งเดียวก็ทิ้ง’ อารมณ์เหมือนกับที่ว่าชุดนี้ใส่ถ่ายรูปไปแล้วอาทิตย์หน้าใส่ไม่ได้แล้วอายเขา
ไม่แน่ใจว่าทันยุคที่ต้องตัดเสื้อผ้ากันใส่กันไหม เมื่อก่อนคุณไม่สามารถที่จะเข้าไปซื้อเสื้อผ้าในห้างได้แบบในสมัยนี้นะ คุณต้องหาช่างตัดเสื้อ เลือกผ้ากว่าจะได้เสื้อผ้าชุด ๆ นึงมา ซึ่งมันเริ่มมาเปลี่ยนในยุค 60 ตั้งแต่มี Ready-to-wear (เสื้อผ้าที่ผลิตด้วยโรงงาน)ออกมา ทำให้บริษัทแฟชั่นใหญ่ ๆ เริ่มมองว่า เขาสามารถทำเงินได้มากกว่าถ้าเขาขายเสื้อผ้าได้ถูก ๆ และขายในคนจำนวนเป็นล้าน ๆ ได้ ทำให้วงการแฟชั่นมันเลยโตแบบเละเทะไปหมด เขาเริ่มเสาะหาวัสดุที่ทำแล้วราคาจะถูกลง ซึ่งส่วนใหญ่วัสดุจะเป็นพวกพลาสติกถักใยสังเคราะห์ ทุกวันนี้เราเลยมีผ้าใยสังเคราะห์เต็มท้องตลาดไปหมด เพราะมันถูกแค่นั้นเองไม่ได้มีอะไรเลย
ตามความจริงผมว่ามันไม่มีเส้นใยอะไรที่ชั่วร้ายหรอก พวกพลาสติกใยสังเคราะห์ (ผ้าโพลีเอสเตอร์) มันก็มีประโยชน์นะ แต่ปัญหาที่ผมมองเห็นไม่ใช่การเลือกวัตถุดิบที่ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อมแต่ปัญหามันอยู่ที่การใช้งาน ถ้าทุกคนทั้งโลกใส่ผ้าใยสังเคราะห์แต่ทุกคนมีเสื้อผ้าในจำนวนแค่พอใช้งานกับตัวเองมันก็คงไม่มีปัญหา แต่ตอนนี้เราเลือกที่จะมีเสื้อ 300 ตัว ที่เราใส่แล้วทิ้ง แทนที่จะมีอยู่แค่ 20 ตัว ที่เราใส่จริง ๆ
คิดว่ามันจะมีจุดเปลี่ยนของเรื่องนี้เกิดขึ้นในอนาคตบ้างไหม
ผมก็คิดว่าตอนแรกมันจะไปแล้วเหมือนกันนะตอนเห็นข่าวแบรนด์ดังสองแบรนด์ที่โดนประเด็นเรื่อง Fast Fashion แต่มันดันมีแบรนด์จีนที่เข้ามาเพิ่มอีก สำหรับเรามันร้ายมาก ๆ เพราะจีนถือว่าเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกแล้วการเข้ามาร่วมกับวงการแฟชั่นที่มันไฮเปอร์อยู่แล้ว ยิ่งน่ากลัวเข้าไปอีก ผมไม่แน่ใจและไม่รู้เลยว่าโลกจะสามารถรับมือกับมันได้ขนาดไหน
ถ้าพูดถึงการที่จะนำผ้ามารีไซเคิล ยังเป็นสิ่งที่มีกระบวนการที่ทำได้ยากอยู่ อย่าง Standard Archives เองในการนำวัสดุเหลือใช้ที่เป็นเศษจากการผลิตเสื้อผ้า เราจะมีการเก็บเพื่อส่งไปยังโรงงานที่เขาสามารถเอาตีเป็นเส้นใยใหม่ได้ ส่วนใหญ่ของที่เหลือจะเป็นของเหลือจากกระบวนการระหว่างการผลิตในโรงงาน
แต่ของส่วนใหญ่ที่ทิ้งเป็นขยะจะมาจากผู้บริโภคเป็นคนทิ้งเอง ซึ่งตรงนี้มันไม่ได้มีองกรณ์อะไรเข้ามาดูและและจัดการให้มันสามารถนำขยะเหล่านี้ไปรีไซเคิลได้
แปลว่าขยะส่วนใหญ่มาจากผู้บริโภค
มากกว่าเยอะเลยเพราะคนซื้อแล้วทิ้ง แต่อีกปัญหาหนึ่งคือมันจะมีเสื้อแบบที่ในตัวนึงมีทั้งฝ้ายกับโพลิเอสเตอร์ผสมกันซึ่งบางทีก็ผสมที่ใยผ้า หรือแขนเป็นโพลีเอสเตอร์แต่ข้างในเป็นไหมเป็นอะไรก็ตามแต่ วิธีการแยกผ้าพวกนี้ทำได้ยากมาก ๆ
ถ้าพูดถึงตัวแบรนด์ Standard Archives เอง เราตั้งชื่อนี้เพราะเราอยากจะให้การทำงานของเราเป็น Standard ที่แบรนด์ทั่วไปควรจะให้ความสำคัญแบบเรา ผมคิดเราควรมีเสื้อผ้าแค่พอที่จะใช้ มีเท่าที่ควรมี ไม่ได้มีมันแบบฟุ่มเฟือย ใช้เสื้อผ้าที่เหมาะกับสภาพอากาศ นี่คือโมเดลของเรา Standard Archives ถ้ามีแบรนด์ไหนสนใจก็สามารถเอาโมเดลนี้ไปใช้ได้เลย ผมอยากสร้างโมเดลแฟชั่นใหม่ที่มันเหมาะกับโลกปัจจุบัน
คิดว่าพฤติกรรมการซื้อแล้วทิ้งมาจากไหน
ต้นตอของวงการแฟชั่นในอุตสาหกรรมนี้มันอยู่ที่บริษัทใหญ่ที่เขามองแค่เรื่องทำเงินเท่านั้นเอง เราอยู่ในยุคที่เป็นระบบนายทุนจ๋าในทุก ๆ อย่าง แล้วการที่ผู้คนคิดว่าต้องมีเสื้อผ้าเยอะแยะ มันก็มาจากการตลาดทั้งนั้นที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องมี ซึ่งระบบการตลาดนี้เองก็เหมือนจะทำให้ราคาเสื้อผ้ามันต่ำไปมาก ๆ จนซื้อแล้วรู้สึกว่ามันสนุก พูดง่าย ๆ เลยคือผมคิดว่าผู้บริโภคโดนบริษัทหลอกให้ซื้อ และสร้างค่านิยมที่มันไม่มีเหตุผลเลย
มันเป็นเรื่องที่ใหญ่มากแต่ผมก็มีความหวังนะ เพราะล่าสุดโรงงานผมได้ร่วมงานกับแบรนด์ใหญ่ ที่ต้องผลิตกางเกงว่ายน้ำให้ เขาบอกเลยว่าเขาจะเอาใยสังเคราะห์ที่มาจากการรีไซเคิลเท่านั้น เขายืนยันในแนวทางที่จะใช้วัสดุรีไซเคิลอย่างเดียว มันทำให้เราเห็นเจตจำนงว่าแบรนด์ใหญ่ก็กำลังพยายามพัฒนาให้สินค้ามีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัญหามันไม่ได้หายไปหรอก แต่ยังหวังว่ามันจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ
คิดยังไงกับอิทธิพลของสื่อในวงการแฟชั่น
ผมคิดว่ามีอิทธิพลแน่นอน สิ่งแรกที่ผมคิดว่าสำคัญมาก ๆ เลยคือ เราจะอธิบายหรือให้คำจัดกัดความปัญหาเรื่องความยั่งยืนกับแฟชั่นได้ยังไง ถ้าผมยังพูดว่า ‘เฮ้ยแบรนด์ เรา Sustain นะ เราเป็นเสื้อผ้าผลิตจากวัสดุที่ย่อยสลายได้ เราทำจากฝ้ายออร์แกนิกด้วย’ ปัญหาจริง ๆ ของแนวคิดเรื่องความยั่งยืนที่เราต้องแก้ไขคือ ขยะไม่ได้เกิดขึ้นจากวัตถุดิบด้วยซ้ำ แต่มันเกิดจากเสื้อผ้าที่ถูกใช้แล้วทิ้งโดยผู้บริโภคมากกว่า คนยังไม่เข้าใจว่าการใช้ผ้าเส้นใยสังเคราะห์มันเป็นแค่ส่วนไม่ดีเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง
สมมติว่ามีผู้หญิงคนนึงใส่กางเกงผ้าใยสังเคราะห์แต่ใส่มันจนพังเลย กับผู้หญิงอีกคนนึงซื้อเสื้อผ้าจากแบรนด์แฟชั่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เธอกวาดซื้อมาทั้งหมด เดือน ๆ นึงซื้อเป็น 10 ตัว และเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ คนแบบนี้แหละคือตัวร้ายในการทำลายสิ่งแวดล้อมที่แท้จริง
สื่อมักให้ความสำคัญกับสินค้าที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้เท่านั้น ซึ่งมันมีอย่างอื่นอีกที่จะเข้ามาเกี่ยวในปัญหาของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เพราะถ้าของถูกทำมาจากวัสดุรีไซเคิลแต่คุณยังใช้แล้วทิ้ง มันแย่กว่าเดิมอีก
อย่างการทำกิจกรรมผ้าไทยทอมือ ชวนกันไปทอไปมัดย้อมผ้ากัน ผมอยากจะรู้ว่าการที่คุณไปมัดย้อมเสื้อมันมีประโยชน์อะไรต่อสิ่งแวดล้อม ชวนกันออกมาทำเสื้อแต่ไม่รู้ว่าใครจะใส่ สำหรับผมมันย้อนแย้งกับตัวเอง ผมว่าเราต้องเริ่มตอบคำถามในเชิงที่ลึกกว่านี้แล้วช่วยกันรณรงค์หยุดซื้อเสื้อผ้าที่ไม่จำเป็น
การสื่อสารไปยังลูกค้าของแบรนด์ตลอด 7 ปีเป็นอย่างไรบ้าง
ถ้าพูดถึงผู้ติดตามแบรนด์ Standard Archives เอง เวลาที่ผมลงคอนเทนท์ไปการตอบรับค่อนข้างไปในทิศทางที่ดี ผมคิดว่าคนที่ติดตามแบรนด์เราเข้าใจและพร้อมที่จะฟังและเรียนรู้ไปด้วยกันในเหตุและผลที่ผมพยายามจะสื่อสาร ตัวผมเองก็ไม่ได้คิดว่าสิ่งที่ผมทำมาจะบ่งบอกว่ามันใช่หรือไม่ใช่ยังไง แต่ผมรู้สึกได้ว่า คนในคอมมิวนิตีของ Standard Archives ค่อนข้างที่จะรับฟัง
7 ปีผ่านไปลูกค้าเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก แต่ก็ยังเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างเล็กอยู่ดี เมื่อก่อนแทบจะไม่มีคนสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเลย แต่ตอนนี้พอพูดถึงเรื่องนี้คนอาจจะเริ่มสนใจมากขึ้น แต่ก็ยังไม่พอที่จะเหวี่ยงให้เกิดผลกระทบกับอุตสาหกรรมแฟชั่นกระแสหลัก เพราะอุตสาหกรรมหลักยังคงมีเป้าหมายเดียวคือทำราคาให้ถูกและผลิตให้เยอะโดยอาจจะไม่จำเป็นต้องมีคุณภาพมาก
7 ปีมีช่วงที่รู้สึกยากลำบากที่อยากจะแชร์ให้ฟังไหม
ในช่วงเวลา 7 ปีที่ผ่านมามันก็มีเรื่องราวกระจุ๊กกระจิ๊กเต็มไปหมด ซึ่งผมเพิ่งได้คุยเรื่องนี้กับลูกน้องไปวันก่อนว่าจริง ๆ แบรนด์ Standard Archives เองก็ไม่ใช่แบรนด์ที่ขายตัวเองขนาดนั้น เราไม่ได้คิดว่าเราต้องปั๊มของออกมาขายใหม่เรื่อย ๆ อยู่แล้ว เราไม่จำเป็นต้องผลิตของออกมาเรื่อยๆ เหมือนกับแบรนด์ในกระแสหลัก แต่ก่อนหน้านี้มันจะมีจุด ๆ นึงด้วยความที่เราทำมันมานานมากแล้วผมเองก็รู้สึกว่าแบรนด์มันไม่ไปไหนเลยอ่ะ รู้สึกแย่และไม่ค่อยดีทำให้เริ่มคิดมากจนทำให้ตัวเองไม่สบายไปพักนึงเลย แต่หลังจากนั้นผมก็คิดได้ว่า เออช่างแม่ง แล้วกลับมาทำต่อ
สิ่งที่ผมจะบอกคือบางครั้งเราบี้ หรือเค้นอะไรกับมันมาก ๆ แล้วมันเจ็บปวด เราก็ไม่ต้องบี้มันก็ได้
เจ็บปวดในที่นี้หมายความว่ายังไง
ผมว่าผมสร้างความคาดหวังให้กับตัวเองมากเกินไป เพราะถ้ามองดูพื้นฐานตัวผมเองดูเหมือนจะพร้อมเลยนะ มีโรงงานแถมยังเรียนตรงสายงานอีก ด้วยประสบการณ์การทำงานก็เรียกว่าไม่น้อย แต่แม่งจะมีเด็กที่เพิ่งอายุ 20 เรียนอะไรก็ไม่รู้มา อยู่ดี ๆ เขาก็เปิดร้านเสื้อผ้าขายได้ล้านสองล้าน มันทำให้ผมเกิดการเปรียบเทียบกับตัวเอง ผมเองก็รู้สึกว่าทำไมฉันพร้อมขนาดนี้ แล้วฉันทำไม่ได้วะ ทำไมคนที่ไม่มีอะไรเลยเขาทำได้ดีกว่า
แต่พอผมทำมาเรื่อย ๆ สักพักผมก็เริ่มปลงเอง ทีนี้ผมก็โฟกัสไปในสิ่งที่ผมอยากทำ สิ่งที่ผมเชื่อและทำมันต่อ มันอาจจะมีช่วงเวลาที่สับสนไปบ้าง แต่จะเป็นในส่วนของผมเองไม่ใช่แบรนด์ Standard Archives
อยากจะแนะนำอะไรกับคนที่เริ่มทำโปรเจกต์
อย่างผมก็เริ่มอายุเยอะแล้วคงอยากจะบอกกับคนที่กำลังอยากจะเริ่มทำโปรเจกต์ใหม่ว่า อยากทำอะไรก็ให้รีบทำเลย เวลาแม่งโคตรจะไม่เยอะเลย แล้วทุกวันนี้ทุกอย่างแม่งเร็วไปหมด ถ้าอยากจะทำอะไรไม่ต้องมองหน้ามองหลังทำเลย ผมรู้สึกว่าผมเสียเวลาย่ำอยู่กับที่แบบนี้มานาน แต่อย่าไปคาดหวังว่ามันจะออกมาในสิ่งที่เราอยากให้เป็นมากเกินไป สมมติอยากจะเปิดร้านเหล้า อยากลองเรียนเป็นบาร์เทนเดอร์ก็ลองเลย แล้วถ้าทำไปสุดท้ายไม่ได้เปิดร้านขึ้นมา แต่ปรากฏว่าทำค็อกเทลแล้วเพื่อนมากินที่บ้านแล้วชอบกันมาก เฮ้ย แค่นี้ก็โอเคมากแล้ว
บางเส้นทางเราอาจจะเดินไปแล้วไม่ได้ A ไม่ได้ B ไม่ได้ไปถึง C แต่เราได้ Q มา มันก็โอเคนินา คนเรามีความคาดหวังลาง ๆ ได้ว่าเราอยากได้อะไรแต่สิ่งที่ผมอยากจะบอกคือ ทำอะไรก็ตามถ้ามันได้ทำมันก็ได้เดินไปเจออะไรสักอย่าง แม้มันอาจจะไม่ใช่สิ่งคาดหวังไว้ อย่าง Standard Archives เองผมชอบเวลาได้เจอดีไซนเนอร์ด้วยกัน แลกเปลี่ยนความสนใจและความคิดกัน เจอคนที่ถูกจริตกัน
เราอาจจะไม่ใช่แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในแง่ของการขายแต่การที่มันทำให้เราได้เจอคนที่มองโลกคล้ายกัน เพราะตัวผมเองไม่ได้อยู่ไทยมานาน มันทำให้ผมได้เจอเพื่อนใหม่ๆ ที่ทำแบรนด์อยู่เหมือนกัน อีกอย่างผมรู้สึกว่าผมได้พูดเรื่องเกี่ยวกับความคิดต่อระบบแฟชั่นที่ผมเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยลงไปในการสื่อสารของแบรนด์ ถ้าเจอคนที่พร้อมจะรับฟังผมก็ดีใจอ่ะ
เหตุการณ์ที่สร้างบทเรียนที่ดีระหว่างการทำ Standard Archives ให้กับตัวเอง
ตัวผมเองไม่ได้เป็นคนที่สามารถทำงานได้ในแบบที่คิดอะไรออกและสามารถคิดแก้ปัญหาในหัวได้ตลอดเวลา ถ้าผมตั้งไว้ว่า ‘วันนี้ผมจะเขียน ผมจะต้องเขียนให้ได้’ มันจะไม่ได้เลย ผมเลยคิดว่าเราควรมีงานอดิเรกให้ตัวเองได้ รีแลกซ์ ผ่อนคลายและไม่ต้องคิดมากบ้าง ยิ่ง Standard Archives เองก็ไม่ได้มีเวลาทำงานที่ชัดเจนพอยิ่งไปพยายามควบคุมการทำงานมาก ๆ มันเลยไม่ไม่เวิร์กสำหรับผม
มีขั้นตอนไหนในการทำงานบ้างที่เราไม่ชอบเอาซะเลย
ผมทำ Standard Archives ตลอดเวลามันก็มีจุดสนุกนะแต่บางทีมันจะมีสิ่งที่ผมไม่อยากทำเลยซึ่งคืองานหลังบ้าน การทำบาร์โค้ด จัดการระบบสต็อก การคำนวนแพทเทิร์น การฟิตติ้งสำหรับผมมันไม่สนุกเลยครับ อาจจะเพราะว่าผมทำในส่วนของการบริหารโรงงานมากกว่า พอลงไปทำดีเทลย่อยมันเลยทำให้ผมเบื่อ
ในระหว่างทำ Standard Archives ตอนไหนที่รู้สึกดีใจที่สุด
ช่วงแรกตอนที่เริ่มขายตอนนั้นไปเปิดตัวที่ช่างชุ่ย ดีใจมากไปขาย 3-4 วันขายได้เป็นแสน รู้สึกใจฟูมาก ๆ ตอนนั้นผมทำร้านกับเพื่อนที่เป็นสถาปนิก เขาออกแบบร้านป๊อปอัพ เป็นแบบ Modular ไม้ต่อกันสองกล่อง ขนส่งง่าย ถึงปุ๊บก็เปิดขายของได้เลย คนชอบเยอะมาก ๆ แล้วเราไปขายกับคนงาน 3-4 คนได้คุยกับลูกค้าสนุกกันมาก ตกเย็นเราเอาไวน์ที่ใส่ตู้เย็นไว้ออกมา ถ้าใครซื้อเยอะหน่อยเราก็เลี้ยงไวน์นั่งคุยกัน เรารู้สึกว่าเราได้กระแสตอบรับดีมาก ๆ แต่ตอนนั้นก็มีข้อผิดพลาดเรื่องการผลิตไม้ที่ใช้ทำเป็น Modular เนื่องจากเป็นไม้เนื้อแข็ง ขนส่งยากและเลยไม่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้อีก
อีกช่วงเวลานึงที่ทำให้ดีใจมาก ๆ เลยคือได้เจอกับคนที่เขาชอบบทความที่ผมเขียนใน Standard Archives มีเพื่อนของเพื่อนเขาก็บอกว่าได้อ่าน ซึ่งจริง ๆ เราเขียนค่อนข้างแรนดอมมาก เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมกับแฟชั่น ซึ่งผมไม่รู้ว่าคนจะเข้าใจมัน 100% ไหม แต่แค่เขาพยายามเข้าใจผมก็ดีใจมากแล้ว
โปรเจกต์ที่อยากแนะนำให้เรารู้จัก
คอลเลกชันใหม่ของทาง Standard Archives จะเป็น Unisex ทั้งหมดแล้ว จะไม่มีเพศและไม่มีไซส์แบบเดิมที่เป็น S M L จะเป็นไซส์ 1-9 แทน ที่เราทำแบบนี้เพราะเรามองว่าเมืองไทย ตอนนี้วัฒนธรรมการแต่งตัวค่อนข้างที่จะหลวมมากขึ้น ซึ่งสำหรับผมมันเป็นข้อดีนะ ถ้ามองแบบง่าย ๆ เลย ที่ญี่ปุ่นต้องใส่สูทผูกเน็กไท ทุกคนจะมีเซตยูนิฟอร์มของตัวเอง แต่เมืองไทยเราไม่ค่อยมีอะไรแบบนั้น
ถ้าพูดในแง่ของการทำงานผมออกสินค้าแค่ 1 เซต ซึ่งตอนที่แยกชายหญิงเราต้องแยกสต็อกและการผลิตเป็นสองเซต ทั้งที่ความจริงแล้วมันเหมือนเราขีดกรอบนี้ขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่มันอาจจะไม่มีกรอบก็ได้ ผมอาจจะใส่เสื้อผ้าผู้หญิงได้ แล้วยังไงใส่ได้ก็คือใส่ได้ เราเลยหันมาทำสินค้าที่มีความเป็นกลางมากขึ้น กางเกงก็สามารถใส่ได้ทั้งผู้หญิงผู้ชาย เพราะจะเป็นเอวยางยืดสบาย ๆ ผมอยากผลักดันเรื่องแนวคิดความยั่งยืนมากขึ้นกว่าเดิม โดยจะใช้วัสดุเหลือใช้จากโรงงาน นำมันมาทำใหม่เป็น 80% ของการผลิตใหม่ให้เป็นผ้ารีไซเคิลแล้วย้อมสีธรรมชาติ
ช่วยแชร์สีที่ชอบพร้อมเหตุผล
สีขาว ตัวผมเองชอบใส่สีขาวอยู่แล้ว มันเป็นสีที่รองรับกับทุกอย่าง สีขาวเป็นสีที่ช่วยเน้นเรื่องเนกาทีฟสเปซ คือผมคิดว่าสีขาวมันมีเสน่ห์เพราะมันทำให้ช่องว่างมันโดดขึ้นมา ก็เลยชอบสีขาว