Nakornsang Studio สตูดิโอขนาดเล็กที่เป็นเหมือนศาสนสถานของคุณ ชานนท์ นครสังข์ ช่างไม้ฝีมือประณีตที่ทำงานไม้ด้วยความใส่ใจและยอมรับในความเป็นธรรมชาติของไม้
Index
แนะนำ Nakornsang Studioจุดเริ่มต้นของ Nakornsang Studioเจตจำนงของ Nakornsang StudioFine Woodworking ในมุมมองของ Nakornsang Studioแรงผลักดันที่ทำให้ Nakornsang Studio เกิดขึ้นประสบการณ์ระหว่างการทำสตูดิโอที่เป็นประโยชน์ความเห็นในวงการเฟอร์นิเจอร์โปรเจกต์ที่อยากแนะนำให้รู้จักสิ่งที่ต้องการแชร์สำหรับคนที่กำลังเริ่มทำโปรเจกต์Secret Factsแนะนำ Nakornsang Studio
ผมชื่อ ชานนท์ นครสังข์ เจ้าของและผู้ก่อตั้ง Nakornsang Studio ปัจจุบันเป็นช่างฝีมือเฟอร์นิเจอร์ไม้และเปิดสอนไพรเวตเวิร์กชอป ที่เป็นการสอนแบบหนึ่งต่อหนึ่งในรูปแบบที่เรียกวิธีการทำงานไม้แบบนี้ว่า Fine Woodworking
จุดเริ่มต้นของ Nakornsang Studio
ผมคิดว่าในโลกนี้เรามีช่างฝีมือที่ทำงานในรูปแบบสตูดิโอขนาดเล็กอยู่จำนวนมาก เป็นการทำงานที่ใช้เวลากับประสบการณ์ในการผลิตชิ้นงาน งานที่มีคาแรกเตอร์ในตัวมันเองที่แตกต่างจากงานที่เน้นการปั๊มจำนวนการผลิตในเชิงธุรกิจ
ในตอนแรกผมอยากจะทำบ้านสักหลังที่เป็นของตัวเองสักครั้งในชีวิต และผมเริ่มสนใจงานไม้จากการได้เห็นผลงานช่างไม้ระดับโลกอย่าง George Nakashima และ James Krenov แต่ผมเองก็ไม่ได้มีเงินเยอะมากพอที่จะสามารถซื้อได้ เพราะงานจากช่างฝีมือระดับนี้มีราคาที่สูงมาก แม้ในตอนนั้นจะมีแบรนด์ที่คัดสินค้าประเภทนี้เข้ามาขายในไทย แต่ด้วยขนาดและรูปแบบยังมีบางจุดที่ยังไม่ตรงใจผมอยู่
ในตอนนั้นผมพอที่จะมีเวลาและแรงเหลือจากงานประจำ เลยคิดขึ้นมาได้ว่า ‘เฮ้ย เดี๋ยวเราลองลุยด้วยตัวเองดีกว่า’ หลังจากนั้นผมค่อย ๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้วยการลงมือทำเองจนกลายมาเป็น Nakornsang Studio ในทุกวันนี้ จากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็ผ่านมา 10 ปีแล้วครับ
จุดเปลี่ยนในการก่อตั้งสตูดิโอ
ผมคิดว่ามันน่าจะเริ่มจากการที่ผมอยากจะทำงานไม้ในทุก ๆ วัน ผมอยากอยู่กับเนื้องานตรงนี้และค่อย ๆ คลี่คลายตัวเองออกจากงานประจำ เพื่อมาพัฒนางานอดิเรกตัวเองให้กลายเป็นงานหลักให้ได้
เจตจำนงของ Nakornsang Studio
ถ้าลองมองในอุตสาหกรรมช่างไม้ในประเทศไทยจะเห็นว่าจริง ๆ แล้วบ้านเราเป็นแหล่งผลิตแรงงานที่มีคนประกอบอาชีพช่างจำนวนมาก แต่ด้วยขั้นของระบบการผลิตช่างถือเป็นงานที่อยู่ปลายน้ำของสายการผลิต ดังนั้น อาชีพช่างฝีมือหรือคนทำงานประณีตศิลป์จึงหาได้ยากมากในไทย
ถ้าพูดถึงงานสาขา Fine Woodworking เรามักจะนึกถึงญี่ปุ่น อเมริกา หรือประเทศแถบสแกนดิเนเวีย เพราะเขาสามารถแสดงให้เห็นถึงความพิถีพิถันและความละเอียดอ่อนในขั้นตอนการผลิตได้อย่างมีคุณค่าและชัดเจน แต่หากกลับมามองในบ้านเราที่มีนักออกแบบและมีช่างจำนวนมาก แต่ช่างฝีมือที่จะสามารถใช้ทั้งฝีมือและมีทักษะด้านการออกแบบอย่างเข้าใจในการสร้างผลงานของตัวเอง ผมคิดว่าเรายังมีไม่เยอะ ผมเห็นช่องโหว่ตรงนี้อยู่และอยากจะให้คำว่า Fine Woodworking เป็นที่รู้จักมากขึ้นในบ้านเรา
อธิบายคำว่า Fine Woodworking ในมุมมองของ Nakornsang Studio
Fine Woodworking ความหมายค่อนข้างชัดเจน นั่นคือการมองวัสดุด้วยความเป็นจริงถ้ามองไม้ละเอียดขึ้นหน่อยกว่าแค่เป็นของแข็งที่มีสีน้ำตาล เราจะเห็นลวดลาย โทนสีเฉพาะแต่ละสายพันธุ์รวมถึงการมองดูร่องรอยต่าง ๆ ของไม้แต่ละแผ่น ว่าเราเลือกที่จะยอมรับมันหรือเลือกที่จะไม่ใช้มันซึ่งผมมองว่ามันเป็นมุมมองเชิงลึกต่อวัสดุกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า
มันคือการทำงานกับวัสดุไม้ด้วยความประณีตในแง่มุมต่าง ๆ โครงสร้างที่สัมพันธ์กับการยืดหดบิดตัวของไม้ ผิวสัมผัสรวมไปถึงวิธีการเคลือบถนอมเนื้อไม้ที่จงใจคงสีเดิมของไม้ไว้ และรอการเปลี่ยนแปลงของสีผ่านกาลเวลา
อีกอย่างนึงคือ ผมตั้งใจทำให้มันไม่อิงกับยุคสมัยหรือว่าผลิตผลงานขึ้นมาแค่เพื่อตอบสนองเทรนด์ในปัจจุบัน อยากให้ของที่ทำใช้งานได้ด้วย ส่งต่อไปถึงอีกรุ่นได้ด้วย ถ้าเรามองว่าของมันอยู่ไปได้นาน หรือส่งต่อได้ผมคิดว่ามันคุ้มค่ากับเวลาและราคาที่ได้จ่ายและทุ่มเทลงไป รวมถึงต่อชีวิตให้กับไม้ที่ถูกตัดมาแล้วด้วย
ถ้าเราตอบคำถามตัวเองได้ว่าเราทำงานนี้เพื่ออะไร ทำงานนี้เพื่อให้ได้อยู่กับมัน คลุกคลีกับมันในทุก ๆ วันไหม ถ้าเป็นอย่างนั้นเป้าหมายมันก็อยู่กับเราในทุก ๆ วันอยู่แค่ตรงหน้าเรานี้เอง
แรงผลักดันที่ทำให้ Nakornsang Studio เกิดขึ้น
ผมอยากใช้เวลาอยู่กับการทำงานไม้ในทุก ๆ วัน และคิดว่าจะสามารถทำมันจนเป็นอาชีพให้กับตัวเองได้ แต่ตอนนั้นยังไม่รู้จริง ๆ ว่าอาชีพช่างไม้คืออะไร เพราะผมไม่เคยเอาตัวเข้าไปอยู่ในโรงงาน และไม่ได้สนใจจะเอาตัวเองไปอยู่ตรงนั้นด้วย ผมแค่อยากแกะภาพในหัวออกมา เลยกลับมามองที่ตัวเองว่าในตอนนั้นผมมีอะไรอยู่บ้าง ผมมีเวลา มีพลัง มีความอยากรู้อยากทำ พอดีกับบ้านตัวเองยังพอมีพื้นที่เหลือที่จะทำสตูดิโอเล็ก ๆ ได้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเงินออมส่วนตัวมาลงทุนในการซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือเพื่อสร้างทักษะและประสบการณ์ให้กับตัวเอง เริ่มฝึกด้วยอุปกรณ์น้อยชิ้นที่มี ถ้ามีโปรเจกต์เข้ามา ผมก็จะใช้รายได้ในส่วนนั้นมาต่อยอดเพื่อซื้อเครื่องมือเพิ่มไปเรื่อย ๆ
ตอนนั้นมันดูเป็นเส้นทางที่ยาวไกลในการเป็นช่างฝีมือ แต่มันเป็นเส้นทางที่ไกลแค่ไหนก็ยอมไป เพราะเวลาที่ไม่ได้ทำมันก็จะนึกถึง มันเป็นแรงผลักดันให้ทุกอย่างเกิดขึ้น คนเราถ้าเราอยากจะทำมันจริง ๆ สุดท้ายแล้วเราจะหาเรื่องทำมันจนได้เอง ไม่ว่าผมจะไปไหนผมจะนึกถึงช่วงเวลาที่อยู่ในสตูดิโอเสมอ ถ้าเราตอบคำถามตัวเองได้ว่าเราทำงานนี้เพื่ออะไร ทำงานนี้เพื่อให้ได้อยู่กับมัน คลุกคลีกับมันในทุก ๆ วันไหม ถ้าเป็นอย่างนั้นเป้าหมายมันก็อยู่กับเราในทุก ๆ วัน อยู่แค่ตรงหน้าเรานี่เอง
ผมคิดว่าไม่มีใครเห็นความงามของสิ่งที่ทำ ดีเท่ากับคนที่สร้างมันขึ้นมา
ถ้าเราทำมันอย่างสม่ำเสมอมากพอ
ทำมันซ้ำ ๆ คนจะเริ่มได้ยินเราเอง
ประสบการณ์ระหว่างการทำสตูดิโอที่เป็นประโยชน์
ถ้าเกิดเราทำมันอย่างสม่ำเสมอ ทำมันซ้ำ ๆ คนจะเริ่มได้ยินเราเอง ผมคิดว่าทักษะเฉพาะทางเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องรู้ แต่ต้องควบคู่ไปกับการเล่าเรื่อง ถ้าให้แนะนำคนที่กำลังเริ่มโปรเจกต์คืออยากจะให้คิดเรื่องการเล่าเรื่องไปด้วยเลย ผมคิดว่าไม่มีใครเห็นความงามของสิ่งที่ทำดีเท่ากับคนที่สร้างมันขึ้นมา รายละเอียดเล็ก ๆ ในผลงาน ที่คุณอาจจะไปจ้างใครมาช่วยถ่าย ช่วยเขียน คนเหล่านั้นอาจจะถ่ายทอดภาพและอักษรออกมาได้ดี แต่คนที่เล่าเรื่องดีที่สุด รู้จักงานมากที่สุดก็คือตัวคุณอยู่ดี การฝึกเล่าเรื่องที่ไม่ใช่แค่การพูด แต่คือการฝึกที่จะรับฟังและสังเกตงานตัวเองให้มากพอและเล่ามันออกไป งานของคุณจะเริ่มถูกมองเห็นเอง
ผมมองว่ามันเป็นสิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ยังขาดในเรื่องนี้อยู่ ถ้ามองในต่างประเทศเหมือนการเล่าเรื่องมันอยู่ในหลักสูตร จะเห็นได้ว่ามีคนเก่งอีกเยอะที่ยังเล่าเรื่องความงามของงานตัวเองไม่ได้ อย่างในโลกช่างฝีมือตอนนี้ ที่เขารันสตูดิโอขนาดเล็กกันได้เนี่ย เขาเล่าเรื่องโคตรเก่ง เขียนก็ดี ถ่ายรูปก็สวย ถ่ายวิดีโอตัดต่อเป็นหมด มันครบเครื่องมาก ดังนั้นเขาสามารถที่จะเล่าเรื่องที่ตัวเองทำออกมาได้ลื่นไหลเป็นธรรมชาติ โดยไม่ต้องรอให้ใครมาสื่อสารให้ แต่สื่อสารสิ่งที่ทำออกไปด้วยตัวเขาเอง
คุณมีความเห็นในวงการเฟอร์นิเจอร์อย่างไร
ถ้ามองในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ในตอนนี้ผมคิดว่าคนให้ความสำคัญกับคำว่า ‘บ้าน’ มากยิ่งขึ้น ดูจากเทรนด์ได้เลยว่าแบรนด์เสื้อผ้าต่าง ๆ เริ่มหันมาทำเฟอร์นิเจอร์มากขึ้น ความต้องการในตลาดเพิ่มมากยิ่งขึ้น คนเริ่มหันมาสนใจของตกแต่งบ้าน ตอนนี้เองเครื่องมือและอุปกรณ์งานไม้ในประเทศเราก็เริ่มมีคนนำเข้ามาในราคาที่สามารถจับต้องได้ มีตัวเลือกมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งชี้เรื่องการมีอยู่ของคนที่ทำงานไม้ที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นและคอยช่วยกันพัฒนาให้คนสนใจกว้างออกไปอีก
ความรู้ต่าง ๆ ตอนนี้มันเชื่อมโยงกันหมดแล้วผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ยุคผมตอนนั้นยังเก็บตังค์ซื้อหนังสือเพื่อศึกษารายละเอียดของงานอยู่เลย แต่ตอนนี้เราสามารถเข้าไปหาข้อมูลดูดีเทลของงานได้อย่างง่ายได้ แล้วไม่จำเป็นแล้วที่จะต้องตามหาข้อมูลแค่เฉพาะที่เป็น big name (คนมีชื่อเสียง) แต่ small studio (สตูดิโอขนาดเล็ก) เราก็สามารถค้นเจอคนเก่ง ๆ ได้เช่นกัน
โปรเจกต์ที่อยากแนะนำให้รู้จัก
เพิ่งมาปีนี้ที่ตัดสินใจเปิดบ้านเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ทำเป็นไพรเวทเวิร์กชอป แทนที่จะเล่าผ่านแค่ชิ้นงานที่ผมสร้าง การทำเวิร์กชอปเหมือนเป็นการส่งประสบการณ์ตรงเรื่อง fine woodworking ส่งผ่านผู้คนอีกต่อ ตั้งใจให้เป็นจุด ต่อจุด กระจายออกไปอีกที คือพอทำงานอยู่กับไม้มาพักนึงแล้วเลยรู้ว่าการทำไม้ให้สวยไม่ใช่เรื่องซับซ้อนเกินไป
แต่ก็เริ่มด้วยความอยากพิสูจน์ พอตอนนี้ได้เห็นผลงานคนที่มาเรียนหลายต่อหลายชิ้นยิ่งแน่ใจว่า fine woodworking ถ้าเริ่มที่คนรู้วิธีการและใช้ใจทำ นั่นก็เพียงพอแล้ว
คนที่มาเรียนเป็นใครบ้าง
หลากหลายอยู่เหมือนกันในตอนแรกผมตั้งกลุ่มเป้าหมายของเวิร์กชอปนี้ไว้ที่อายุ 40+ แต่พอเปิดสอนจริง ๆ ได้เจอคนอายุ 20-30 ต้น ๆ พวกเขามีความเข้มข้นกับเรื่องที่ตัวเองสนใจมาก ๆ เช่น บางคนเริ่มสนใจศึกษากาแฟสเปเชียลที ตั้งแต่อายุ 17 มันทำให้คุยกันสนุก ซึ่งคนรุ่นใหม่ดูมีสมาธิกับสิ่งที่ทำและเชียวชาญในการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งแค่นี้ก็เพียงพอแล้วถ้าเขาจะทำมันอย่างต่อเนื่อง
สิ่งที่ต้องการแชร์สำหรับคนที่กำลังเริ่มทำโปรเจกต์
เราโชคดีที่มีโซเชียลมีเดีย ฉะนั้นเราต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากมันให้ได้ โดยการฝึกการเล่าเรื่องควบคู่ไปกับการทำงานด้วย สมัยนี้ราคาในการทำสื่อหรือโฆษณามีราคาที่ถูกลงมาก ถูกกว่าการที่ใช้สื่อใหญ่ ๆ เท่านั้นเพื่อให้คนรู้จัก ลองใช้พื้นที่ตรงนี้ให้เป็นประโยชน์เพื่อนำเสนองานหรือตัวเราออกไปเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว
Secret Facts
ก่อนจะเริ่มทำอะไร เราต้องมีเวลาและเดินมาด้วยความปลอดภัยนิดนึง อย่ากระโดดเข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัว เพราะถ้าเกิดมันแป้กขึ้นมา สุดท้ายเราจะไม่ได้ทำสิ่งที่อยากทำอยู่ดี
สิ่งที่ทำในชีวิตประจำวันที่คนอื่นไม่รู้
ช่วงเวลาที่พัก ผมชอบนั่งเฉย ๆ มองดูลูกสาวตัวเอง มองแมวที่อยู่ในบ้านเคลื่อนไหวไปมาภายในบ้าน ได้เห็นเฟอร์นิเจอร์ที่สร้างถูกใช้ในฟังก์ชันต่าง ๆ ถือเป็นกิจกรรมที่ให้ความรู้สึกได้หยุดพักจริง ๆ
เหตุการณ์ที่สร้างบทเรียนที่ดีให้กับตัวคุณ
คิดว่าน่าจะเป็นตอนที่เราหยุดหารายได้จากช่องทางอื่น ๆ ตัดสินใจว่าจะใช้เวลาทั้งหมดมาอยู่ในสตูดิโออย่างเต็มรูปแบบ ผมโยนโจทย์ให้กับตัวเองและใช้ศักยภาพของงานไม้ด้วยสตูดิโอที่มี หาคำตอบไปทีละคำถาม ค่อย ๆ ปลดล็อกตัวเอง พอเราได้ใช้สมาธิ ใช้เวลากับตัวเองและจดจ่อกับมัน ผมพบว่ามันคือสิ่งที่ผมตามหามาตลอด
ผมคิดและวางแผนรัดเข็มขัดมาประมาณนึง มีเงินออมโดยไม่ต้องซื้อหรือผ่อนอะไรเพิ่ม สถานที่ก็เตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว ทำให้เราลาออกจากงานประจำได้อย่างหมดห่วง การไม่มีห่วงคือการมีอิสระในการทำงานและสร้างอาชีพให้กับตัวเอง สิ่งที่ผมต้องค้นหาคือวิธีการที่จะพัฒนาอาชีพนี้ด้วยการคลำ ๆ ทางเดินด้วยตัวเอง เพราะเราไม่ได้มีครูหรือใครมาบอกทางเรา ถ้าให้แนะนำสำหรับคนที่อยากจะทำโปรเจกต์ของตัวเองอาจจะต้องพยายาม คิดเผื่อเรื่องการยืนระยะ
มี safety (รัดกุม) ไว้ก่อน พอที่จะมีเวลาคลำทางเดินได้เอง และเดินมาอย่างปลอดภัยนิดนึง อย่ากระโดดเข้ามาแบบที่ไม่ทันตั้งตัว เพราะถ้าแป้กขึ้นมา สุดท้ายจะไม่ได้ทำเรื่องนั้นอยู่ดี
รู้สึกดีใจที่สุดตอนไหน
จะมีเก้าอี้ของสตูดิโอผมอยู่ตัวนึงที่มีราคา 50,000 บาท ดีใจทุกครั้งที่ขายได้ ส่วนมากคนจะมีราคาในใจว่ามาตรฐานเก้าอี้ควรมีราคาเท่าไหร่ แต่การที่เราทำเก้าอี้ตัวนึงขึ้นมาแล้วมันมีคนเห็นคุณค่าและรายละเอียดของมันจริง ๆ การที่มีคนเลือกมันขึ้นมาจะทำให้ผมดีใจและชื่นใจเสมอ
สถานที่ที่ชอบที่สุด
ชอบอยู่ในสตูดิโอตัวเอง เพราะเรามีภาพในหัวอยู่แล้วว่าอยากจะทำอะไร ผมชอบที่จะแกะภาพนั้นออกมา คลี่คลายมันออกมาในสตูดิโอ มันเป็นเหมือนศาสนสถานส่วนตัว ที่เวลาอยู่ในนั้นมันทำให้ผมรู้สึกอิสระอย่างไม่มีข้อจำกัดอะไรเลยที่สุดแล้ว
สีที่ชอบที่สุด
ชอบสีโทนน้ำตาลเขียว เพราะเราทำงานกับวัสดุธรรมชาติอยู่แล้ว เราลิงก์กับมันและรู้สึกชื่นใจเสมอถ้าได้เข้าป่า สีขาวก็เป็นอีกสีนึงที่มีความหมายเหมือนเฟรมว่างเปล่า ถ้าเอาเฟอร์นิเจอร์ไปวางมันก็คืองานศิลปะ