พูดคุยกับ คุณเป้-ปิยกรณ์ ชัยวีรพันธ์เดช และ คุณพัชร ลัดดาพันธ์ สองผู้ก่อตั้ง Bangkok Art Book Fair พื้นที่ที่รวบรวมกลุ่ม alternatives self-publishing (กลุ่มคนที่จัดทำหนังสือด้วยตัวเอง) ความต้องการที่จะสนับสนุนความหลากหลายในการแสดงออกถึงความชอบทางด้านศิลปะและส่งต่อประสบการณ์ของ sub-culture กลุ่มเล็ก ๆ ให้ยั่งยืน
Bangkok Art Book Fair จัดขึ้นเป็นปีที่ 6 แล้วในแต่ละปีจะมีธีมงานที่เรากำหนดแตกต่างกันออกไป โดยธีมงานจะไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อคัดเลือก self-publishing ที่สมัครแสดงงาน แต่เป็นสิ่งที่ผู้จัดงานต้องการจะสื่อสารออกไปมากกว่า อย่างปีนี้เราสนใจเรื่องของ Visual Narative (การเล่าเรื่องผ่านภาพ) ฉะนั้นเราจะคัดเลือก speaker, documentary และ showcase ที่สอดคล้องไปกับธีมงาน
ในส่วนของ speaker ในปีนี้เรามีชวนสำนักพิมพ์ที่ทำงานเกี่ยวกับภาพประกอบจากเกาหลี Jjokpress และนิตยสาร Illustration จากเยอรมัน Fukt Magazine ในการหา speaker เราจะพยายามให้คนได้เห็นความน่าสนใจของทั้งสองฝั่ง ทั้งในฝั่งตะวันตกและตะวันออก
ช่วยเล่าจุดเริ่มต้นของ Bangkok Art Book Fair และแนวความคิดที่ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น
ถ้าให้เล่าเป็นไทม์ไลน์คือเราทั้งสองคนมีพื้นฐานเป็นกราฟิกดีไซนเนอร์ ซึ่งรูปแบบงานที่เราชอบทั้งทำและดูคือทำหนังสือ ตอนที่ได้ไปอยู่ต่างประเทศเราค่อนข้างชื่นชอบการไป Art Book Fair มาก เราว่ามันน่าสนใจและสนุกมากๆ หนังสือในงานประเภทนี้มันตอบโจทย์เรามากกว่าเวลาที่เราไปร้านหนังสือทั่วไป แม้เราจะอยู่ในหมวดหมู่ของดีไซน์แล้วก็ตาม มันก็ยังไม่น่าสนใจเท่าหนังสือพวกนี้เลย บางคอนเทนต์ก็ไม่ได้เกี่ยวกับดีไซน์ด้วยซ้ำ แต่เออทำไมมันดึงดูดเราได้มากกว่า
เราได้พบเจอความหลากหลายของคนที่ทำงานสิ่งพิมพ์ ได้พบเจอกับเหล่าคนที่ทำงาน self-publishing ต่าง ๆ ซึ่งมันเป็นอะไรที่หาดูได้ยาก เราเก็บทดสิ่งเหล่านี้ไว้ในใจมานานมากแล้ว
พอกลับมาเมืองไทย โปรเจกต์นึงเป็นงานทำหนังสือให้กับ อจ. ชวลิต เสริมปรุงสุข โดยเป็นการสังเกตการณ์การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดงานโดยทั่วไปมาเป็นการแสดงงานลงบน Facebook แทนเราเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ในเชิงองค์ประกอบงานที่มากกว่าการแค่โพสรูปผลงานชิ้นนึง แต่มันมีการสร้างสรรผ่านกระบวนการคิดที่ผ่านการปรับและเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม เราชำแหละมันออกมาเป็นเลเยอร์และรวมมันไว้ในหนังสือที่ชื่อว่า Whether it is art or not
ในตอนนั้นการพิมพ์ดิจิตอลยังไม่ได้สามารถทำได้ง่ายมากเท่ากับตอนนี้ แทบจะไม่มี Risograph ด้วยซ้ำ เราจึงผลิตหนังสือด้วยระบบออฟเซ็ทซึ่งคือ 300 เล่มจำนวนขั้นต่ำที่เป็นไปได้ในระบบพิมพ์ออฟเซ็ท ที่จะวางขายพร้อมกับ Film Screening ที่ทำร่วมกับเพื่อน โดยเป็นการจัดอีเวนต์วันเดียวที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY
ในตอนนั้นเราแอบสำรวจนิดๆ แล้วว่ามันพอเป็นไปได้ไหมที่จะจัด Bangkok Art Book Fair เพราะข้อสังเกตนึงที่เราเห็นในไทยคือร้านหนังสือเล็ก ๆ มันทะยอยปิดตัวกันไปจนหมด ร้านที่เคยไปตอนมหาลัยก็ไม่อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคนที่เขาอยากทำหนังสือเอง เป็น self publisher มันแทบจะไม่มีช่องทางให้เขาได้ขายเลย ถ้าจะขายในร้านหัวใหญ่ในห้างก็ต้องสต๊อกเป็นพันเล่มก็คงผลิตกันไม่ไหว ตอนนั้นพี่ลูกตาลจาก BANGKOK CITYCITY GALLERY ถามเราว่าอยากจะทำโชว์อะไรที่นี่ไหม เราเลยโยนคำถามกลับไปว่า ‘อยากทำ Bangkok Art Book Fair ไหม’ เขาก็หายไปสองอาทิตย์แล้วกลับมาบอกเราว่า ‘เรามาทำ Art Book Fair กัน’
ต่อมาเราเริ่มสำรวจความเป็นไปได้ ดูผู้ผลิต ดูเทคนิคต่างๆ ที่มันจะเอื้อกับการทำ self-publishing โดยเริ่มจากกรุงเทพก่อน ความจริงแล้ว self-publishing ในต่างจังหวัดก็พอมีอยู่บ้าง แต่มันไม่มีการเชื่อมต่อกันเท่าไหร่ ต่างคนต่างอยู่ ขายตามช่องทางของตัวเองเท่านั้น มันเลยเป็นความตั้งใจของเราในปีแรกเราเน้นผู้ร่วมงานที่เป็นคนไทย รวบรวมคนที่ทำงานประเภทนี้อยู่แล้วในไทย ยังไม่อยากให้มันเป็นงานที่เอาหนังสือต่างประเทศมามาขาย ซึ่งก็ลุ้น ๆ อยู่เหมือนกันในปีแรก แต่เราได้ผลตอบรับที่ดี ยอดขายของผู้ค้าก็ไม่ได้ถือว่าขายได้จนรวยหรอกนะ แต่ก็ไม่ได้เจ๊ง หรือขาดทุน
ผู้ที่มาร่วมงานบางคนที่เป็นกราฟิกดีไซนเนอร์ทำแต่งานโปรเจกต์ลูกค้า ถ้าจะให้ทำโปรเจคตัวเองก็ไม่รุ้ว่าจะเอาไปวางขายที่ไหน เพราะถ้าขายไม่ได้เงิน เขาก็จะหมดไฟ แต่พอมันมีอีเวนต์นี้มามันตอบโจทย์ อย่างเราเองก็เคยคุยกับเพื่อนเหมือนกัน ‘เห้ยทำนี่กันเหอะ ทำนั่นกันเหอะ’ แต่ก็เจอคำถามที่ว่า ‘แล้วจะขายที่ไหน’ สุดท้ายโปรเจกต์ก็จะล่มไป
แต่พอเกิดแพลตฟอร์มที่มีพื้นที่ให้เขาได้ปล่อยของ พอเราผ่านการจัดงานมาหลายปีเราจะเห็นคนที่เขาทำมันมาตั้งแต่ปีแรก ๆ ทุกวันนี้เขาสามารถเปิดสำนักพิมพ์เล็ก ๆ ของตัวเองได้แล้ว ห้าถึงหกปีแล้วที่เขายังทำสิ่งนี้อยู่ มันเลยชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในเชิงคุณภาพและความหลากหลายในตัวงาน
อีกส่วนนึงที่ส่งผลชัดเจนขึ้นทุกปีคืองานของนักศึกษา เขาจะมีโปรเจกต์ที่ทำกับอาจารย์ ผ่านบ้างไม่ผ่านบ้าง แต่เขาได้เอาโปรเจกต์พวกนั้นที่อาจารย์อาจจะไม่ให้ผ่านแต่พวกเขาชอบมานำเสนอที่นี่ได้ รวมกันเป็นกลุ่มกับเพื่อนหารค่าโต๊ะกัน ซึ่งกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ น้องบางคนทำงานในห้องอาจจะโดนอาจารย์วิจารณ์ต่าง ๆ ไม่ได้เอ แต่ฉันชอบและผลงานฉันได้รับการมองเห็นในสื่อ ฉันได้คำติชมจากคนทั่วไปจริง ๆ ที่มางาน
นี่คือสิ่งนึงที่เราอยากโฟกัสเลยสำหรับการจัดงาน เราชอบบทสนทนาที่เกิดขึ้นในงาน ด้วยความเป็น fair มันจะได้ความรู้สึกที่ต่างจากการเดินงานในแกลเลอรี่ เพราะมันจะไม่ใช่อะไรที่เป็นทางการ ถ้าคุณถามเราตอบ ความสบายใจที่จะหยิบขึ้นมาดู และสบายใจที่จะพูดคุย เพราะฉะนั้นบทสนทนาที่เกิดขึ้นจะเป็นไปอย่างธรรมชาติ ซึ่งในบางครั้งมันสร้างให้เกิด collaboration ด้วย ซึ่งมันมีนะที่เขาได้เจอกันที่งานและสร้างกันขึ้นมาเป็นกลุ่มใหม่
คิดว่า Bangkok Art Book Fair มีผลดีต่อสังคมแบบไหน
Bangkok Art Book Fair เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดกว้าง เราจะไม่ได้มีกฎตายตัวในการนำเสนอ ขอเพียงแค่ให้สัดส่วนของงานที่นำเสนอเป็นสิ่งพิมพ์มากกว่างานประเภทอื่น ในเชิงเนื้อหาหรือวิธีการเราไม่ได้จำกัด ซึ่งเราคิดว่าเป็นเหตุผลให้ผู้ร่วมงานรู้สึกสบายใจที่จะส่ง เพราะสามารถแสดงตัวตนของตัวเองได้ในรูปแบบของตัวเอง และเมื่อผลตอบรับมันดี เขาจะอยากทำมันต่อไป
เราเห็นภาพว่าจากคนกลุ่มเล็กที่มันขยายออกไปเรื่อย ๆ ช่วงแรกอาจจะจะเป็น artist เป็น ดีไซนเนอร์ ตอนนี้เริ่มมีสถาปนิก มีนักเขียน หรือแม้แต่คนทำไพ่ออราเคิลเข้ามาเพิ่ม มันคือคนรอบตัวและขยายออกไปเรื่อย ๆ ชวน ๆ กันมา พอมีมีอะไรที่เกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมมันทำให้สังคมขยายกว้างมากขึ้นและแข็งแรงมากขึ้นตามธรรมชาติไปเอง
รายละเอียดอีเว้นต์
Bangkok Art Book Fair 2022
วันที่: 25-27 พ.ย. 65 ที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY
เวลา: 13:00 – 21:00